หน้าเว็บ

Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ร้อน แล้ง รุนแรงสะท้านโลก

ร้อน แล้ง รุนแรงสะท้านโลก
ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ประเทศไทยเราประสบกับภัยแล้งรุนแรง ภาคเกษตรประสบปัญหาอย่างหนัก อากาศร้อนจนผู้คนทุกข์ใจไปตามๆกัน ไฟป่าที่เกิดจากการเผาทำลายก็เป็นอีกประเด็นที่กลายเป็นข่าวดังไปทุกสื่อ ซึ่งในความสูญเสียก็มีข้อดีที่ทำให้หลายคนหันมาตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามหาทางแก้ไข หากพวกเราใส่ใจและร่วมมือกันปกป้องโลกนี้อย่างจริงจัง เมื่อธรรมชาติถูกรบกวนน้อยลง ก็จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ในเร็ววัน ขอเพียงแต่เมื่อเราผ่านพ้นความร้อนแล้งแล้วก็อย่าลืมเลือนถึงสิ่งที่เคยคิดไว้ก็แล้วกันครับ

มีเรื่องร้อนๆแบบแสนสาหัสสุดหฤโหดในอดีตมาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์จากวันวานให้เราได้มองต่อไปถึงอนาคตในวันหน้า จะได้ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทกันครับ
☀ทั้งคนและสัตว์หนีตายจากไฟป่าลงน้ำ 
ในปี 1871.
ไฟป่าในประเทศไทยนั้น นับว่ายังไม่รุนแรงมาก เมื่อเทียบกับที่เคยเกิดขึ้นหลายๆแห่งบนโลกนี้ ตามที่มีการบันทึกไว้ ที่สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1871 เกิดความแห้งแล้งอย่างมากในช่วงฤดูร้อนที่ยาวนาน ทำให้เมื่อวันที่ 8-14 ตุลาคม 1871 มีไฟไหม้ป่าครั้งมโหฬารทางตอนเหนือของรัฐวิสคอนซินและมิชิแกน ความแห้งแล้งและลมพัดแรงจัดทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว มีพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 5 ล้านไร่ ประชาชนอย่างน้อย 1,500 คนต้องเสียชีวิต

ในวันที่ 8 ตุลาคม เมืองชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ซึ่งอยู่ติดกับวิสคอนซินและมิชิแกนก็ถูกเพลิงผลาญจนย่อยยับไปในช่วงเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นมีชื่อเรียกขานว่าเกรทชิคาโกไฟร์ (Great Chicago Fire) คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 300 คน บ้านเรือนซึ่งสร้างด้วยไม้ถูกเผาไปกว่า 18,000 หลัง คนนับแสนไร้ที่อยู่อาศัย เพลิงไหม้ครั้งนั้นลุกลามอย่างรวดเร็วเนื่องจากกระแสลมจากทะเลสาบมิชิแกนพัดโหมจนกลายเป็นประวัติศาสตร์เพลิงไหม้ในเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของอเมริกา ซึ่งสาเหตุของอภิมหาเพลิงผลาญนั้น เล่าลือกันว่าเกิดจากเหตุขี้ปะติ๋ว คือวัวตัวหนึ่งเตะตะเกียงน้ำมันล้มลงไปบนกองฟาง แต่ในภายหลังมีการวิเคราะห์ว่าเป็นแค่การแต่งเรื่องให้น่าตื่นเต้นของนักข่าวยุคนั้น สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจากสะเก็ดไฟจากไฟไหม้ป่าในวิสคอนซิน ที่ถูกกระแสลมตะวันตกเฉียงใต้อันรุนแรงพัดมาเจอเข้ากับเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารไม้ซึ่งเป็นเชื้อไฟชั้นดี
☀ชิคาโกทั้งเมืองวอดวายในกองเพลิง.
ในช่วงวันที่ 20-21 สิงหาคม 1910 ก็เกิดเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ในรัฐไอดาโฮและมอนตานา ผืนป่าวอดวายไปกว่า 3 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิตไปถึง 87 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักดับเพลิงที่เสี่ยงภัยเข้าไปช่วยหยุดไฟป่าในครั้งนั้น

ข้ามมาดูทางทวีปออสเตรเลีย ก็เคยเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ ซึ่งเรียกกันว่า แบล็กฟรายเดย์บุชไฟร์ (Black Friday Bushfire) ในรัฐวิกตอเรียเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ.1939 สร้างพิบัติภัยไปกว่า 5 ล้านไร่ มีผู้เสียชีวิต 71 คน บ้านเรือนและอาคารเป็นเหยื่อไฟไปกว่า 1,100 หลัง ควันและเถ้าธุลีจากการเผาไหม้ปลิวไปไกลถึงประเทศนิวซีแลนด์ซึ่งห่างออกไปนับพันไมล์ และในช่วงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ -14 มีนาคม 2009 ก็เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่วิกตอเรียอีกครั้ง กินพื้นที่ถึง 1.1 ล้านไร่ สิ่งปลูกสร้างถูกทำลายไปกว่า 3,500 หลัง มีผู้เคราะห์ร้าย 173 คนต้องตาย ซึ่งส่วนมากเสียชีวิตอยู่ในรถยนต์ที่พวกเขาพยายามขับหนีให้พ้นเปลวไฟมหากาฬ
☀เปลวไฟจากถังแก๊สระเบิดเนื่องจากไฟป่าในปี 1939 ที่ออสเตรเลีย.
เรามาดูฤทธิ์พระเพลิงที่เกิดจากการปะทุของความร้อนใต้โลกกันบ้างครับ เหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดสร้างมหันตภัยมาแล้วมากมายนับแต่โบราณกาล เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เราต้องเผชิญได้แก่การระเบิดของภูเขาไฟตัมโบรา (Tambora) บนเกาะซุมบาวา (Sumbawa) ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1815 การระเบิดครั้งนั้นรุนแรงพอๆกับระเบิดปรมาณู 60,000 ลูกพร้อมกันเลยล่ะครับ
เสียงจากการระเบิดของภูเขาไฟดังสะเทือนเลือนลั่นไปไกลกว่า 2,000 กิโลเมตร ลาวาร้อนฉ่าไหลบ่าท่วมไปทั่วเกาะและไหลลงไปไกลในทะเล เกิดคลื่นสึนามิซัดไปยังเกาะอื่นๆ ผู้คนบนเกาะซุมบาวาไม่น้อยกว่า 11,000-12,000 คนตาย เพราะการระเบิดโดยตรง และอีกกว่า 70,000 คน ทั้งบนเกาะซุมบาวาและเกาะใกล้เคียงล้มตายจากการเจ็บป่วยและโรค ระบาด รวมถึงความอดอยากหิวโหย ผู้คนอีกเรือนแสนต้องป่วยหนักจนแทบเอาชีวิตไม่รอดไปตามๆกัน
☀ภูเขาไฟตัมโบราระเบิดคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาล.
เถ้าภูเขาไฟตัมโบราที่พุ่งสูงขึ้นไปหลายสิบกิโลเมตรในอากาศทำให้บริเวณนั้นไร้ซึ่งแสงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่า ภายหลังการระเบิดทำให้โลกได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์น้อยลงถึง 20% อุณหภูมิอากาศในแถบซีกโลกเหนือลดลงอย่างมาก เพราะฝุ่นละอองเถ้าภูเขาไฟลอยฟุ้งปิดบังผืนฟ้าจนมืดมัว อณูเถ้าธุลีเหล่านี้ลอยปะปนอยู่ในอากาศนานหลายปีกว่าจะตกสู่พื้นโลกจนหมด ในทวีปยุโรป, อเมริกาเหนือ และจีน ต้องเผชิญกับช่วงเวลากลางวันที่มืดมิดเป็นเวลานานนับสัปดาห์ ในปี 1816 ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือไม่มีฤดูร้อน การเกษตรและปศุสัตว์ในซีกโลกเหนือต้องเสียหายไปมหาศาล ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างเลวร้ายในช่วงเวลาหลังจากนั้นต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี
การระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟตัมโบรา ซึ่งรุนแรงถึงระดับ 7 จากที่มีการจัดแบ่งความรุนแรงไว้เพียง 8 ระดับ ทำให้ยอดของภูเขาแหลกสลายไปถึง 1,400 เมตร กลายเป็นหลุมกว้าง 6 กิโลเมตร ลึก 1 กิโลเมตร เกิดทัศนียภาพที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เกาะซุมบาวากลายเป็นเกาะร้างไร้ผู้คนไปอีกนาน
☀เถ้าธุลีจากภูเขาไฟกรากะตัว พวยพุ่งขึ้นสูท้องฟ้า.
เหตุภูเขาไฟระเบิดรุนแรงอีกครั้งหนึ่งที่อินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะรุนแรงน้อยกว่าแต่ก็เป็นที่รู้จักกันมากกว่า เพราะเกิดขึ้นทีหลังเกือบ 70 ปี คือการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) บนเกาะกรากะตัว ในวันที่ 26-27 สิงหาคม ค.ศ.1883 ลาวาอันร้อนแรงไหลท่วมทำลายทุกสรรพสิ่ง รวมถึงชีวิตผู้คน มีผู้เสียชีวิตจากผลกระทบของการระเบิดกว่า 36,000 คน เถ้าธุลีจากการระเบิดลอยสูงกว่า 80 กิโลเมตร บนเกาะโรดริเกซที่อยู่ห่างออกไปถึง 4,776 กิโลเมตร ก็ยังได้ยินเสียงระเบิด เกิดคลื่นสึนามิสูงกว่า 30 เมตร ซัดไปถล่มเกาะอื่นๆ แรงสะเทือนของแผ่นดินไหววัดได้ไกลถึงเกาะอังกฤษ
เหตุร้ายจากความร้อนใกล้บ้านเราเข้ามาอีกนิดหนึ่ง คือแผ่นดินจีนนั้นเคยเจอกับภาวะแล้งจัดจนเกิดทุพภิกขภัย อาหารขาดแคลนครั้งร้ายแรง เมื่อปี ค.ศ.1942 ซึ่งในช่วงนั้นเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น รวมทั้งฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับฝ่ายรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งก็กำลังรบกันอยู่ด้วยเช่นกัน
☀มณฑลเหอหนานประสบภัยแล้งติดต่อกันมาหลายปี และความแห้งแล้งยิ่งแสนสาหัสในปี 1942 รัฐบาลก็เร่งเก็บภาษีเพื่อนำไปบำรุงกองทัพ ชาวบ้านแทบไม่เหลือพืชพันธุ์ไว้ปลูกและยังชีพ ใครจ่ายภาษีไม่ครบก็ต้องถูกบังคับขายทรัพย์สินอื่น รวมทั้งสัตว์เลี้ยงเพื่อนำมาชำระภาษีให้กับทางการ
ปี 1942 ชาวเหอหนานอดอยากจนต้องกินเปลือกไม้.

สุดท้ายผู้คนจำนวนนับล้านพากันอพยพไปยังมณฑลซานซีที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อหนีความแห้งแล้ง คนที่พอมีเงินก็โดยสารรถไฟที่แน่นราวกับจับยัด เบียดเสียดกัน ทั้งในรถและบนหลังคา ที่ไม่มีเงินก็หอบหิ้วกันเดินเท้าไปอย่างน่าเวทนา ทั้งทารกและคนชรา เครื่องบินญี่ปุ่นก็บินมาโจมตีอย่างไร้ทางตอบโต้ ซากศพผู้คนล้มตายเกลื่อนกลาดตลอดทาง ความหิวโหยทำให้ต้องยอมกินทุกสิ่งทุกอย่าง ทว่าภัยแล้งก็ทำลายความอุดมสมบูรณ์ไปสิ้น ไม่มีแม้แต่ใบไม้ให้เก็บกิน บางคนถากเปลือกไม้มาทุบกิน บางคนขุดรากต้นข้าวที่แห้งกรังในนามาเป็นอาหาร ร่ำลือกันว่าถึงกับมีการกินเนื้อมนุษย์ รัฐบาลในช่วงนั้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คนของรัฐยังฉ้อฉลทำให้การช่วยเหลือไปไม่ถึงประชาชน ผลจากความยากแค้นทุกข์ทรมานในช่วงปี 1942-1944 ทำให้ผู้คนล้มตายไปมากกว่าสามล้านคน
☀ความแห้งแล้งและอดอยากนี้ก็เป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เชื่อกันว่าอาณาจักรมายาซึ่งเคยยิ่งใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาต้องล่มสลายไป ชาวมายานั้นเคยมีอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ตั้งแต่ 500 ปี ก่อนคริสตกาลจนถึงราว ค.ศ.1500 พวกเขาก็หายสาบสูญไป ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ชนเผ่าอันยิ่งใหญ่ มีความสามารถสูง มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปะ มีปฏิทิน ชำนาญในการก่อสร้าง ทั้งพีระมิดแบบขั้นบันไดและวิหารที่สร้างไว้อย่างยิ่งใหญ่
มีข้อสันนิษฐานว่าชนเผ่ามายาต้องสูญสิ้นเพราะภัยแล้ง.

หลักฐานจากการสำรวจทางโบราณคดี ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานว่า ชาวมายานั้นล้มตายและแตกกระสานซ่านเซ็นจนสูญสิ้นความรุ่งเรืองไปเนื่องจากความแห้งแล้ง ซึ่งทำให้ขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำ จากการศึกษาซากเมืองเพเตน ในประเทศกัวเตมาลา พบว่า พื้นดินบริเวณนั้นมีแต่ละอองเกสรของหญ้า แทบไม่พบเกสรของต้นไม้ใหญ่เลย เป็นไปได้ว่าป่าไม้บริเวณนี้ถูกโค่นทำลายไปจนหมด เนื่องจากประชากรชาวมายามีอยู่อย่างหนาแน่นมาก การวิเคราะห์ชี้ว่าเมื่อป่าไม้หายไป อุณหภูมิจะสูงขึ้นราว 5-6 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ฝนตกน้อยลง น้ำในแหล่งน้ำระเหยมากขึ้น ความแห้งแล้งก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วจนชาวมายาทนอยู่ไม่ได้ในที่สุด
แม้จะเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ซึ่งอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ให้เราได้หันกลับมามองประเทศของเราในยุคปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร และอนาคตของเราจะก้าวไปทางไหน หวังว่าเราจะเลือกคำตอบสุดท้ายได้ถูกต้อง เพื่อจะดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุขไปอีกหลายยุคสมัย.

รายการบล็อกของฉัน